วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2551

Best Practice

ชื่อผลงาน ศิลปะทรายสี ความงามบนผิวกระจก ลายรดน้ำ
ชื่อเจ้าของผลงาน นายวสันต์ จารุพงษ์
เกริ่นนำ การเรียนรู้วิชาศิลปะในแขนงต่างๆ ผู้เรียนต้องมีความรัก สนใจ ฝึกฝน เพียรพยายามเป็นอย่างยิ่งจึงจะประสบผลสำเร็จ แต่บางครั้งการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษา และชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แนวคิดและที่มาของการนำเสนอของข้าพเจ้าเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาของนักเรียนที่มีต่อการเรียนวิชาศิลปะ ซึ่งจะมีแต่วาดๆ เขียนๆ หรือระบายสี เท่านั้น เด็กนักเรียนส่วนมากต้องการงานที่ท้าทาย แปลกๆ ข้าพเจ้าจึงคิดนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการเรียนวิชาศิลปะ คือ นวัตกรรมทรายสี ลวดลายบนผิวกระจก และการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยลายรดน้ำ ขึ้นมาเพื่อให้นักเรียนได้ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และลงมือปฏิบัติจริงจนประสบผลสำเร็จ ผลสำเร็จ หลังจากที่ข้าพเจ้าได้นำนวัตกรรมทั้งนวัตกรรมทรายสี ลวดลายบนผิวกระจก และการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยลายรดน้ำ แก่นักเรียนแล้ว นักเรียนมีความกระตือรือร้นมากขึ้นต่อการเรียนวิชาศิลปะ มีความพยายาม มีความตั้งใจ สนใจ และภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ต่อผลงานของตนเอง พร้อมทั้งยังได้นำผลงาของตนเองที่ได้ทำนั้นออกเผยแพร่ต่อเพื่อนในโรงเรียน ต่างโรงเรียน ต่างอำเภอและต่างจังหวัดจนเป็นที่ยอมรับของคณะครูเหล่านั้น ผลการได้รับการยอมรับ เมื่อข้าพเจ้านำเสนอผลงานทั้งสามนี้ออกเผยแพร่ทำให้ข้าเจ้าได้รับรางวัล
ครูผู้สอนวิชาศิลปะดีเด่นของคุรุสภาอำเภอท่ามะกา ปีพ.ศ. 2544
ครูผู้สอนวิชาศิลปะดีเด่นของคุรุสภาอำเภอท่ามะกา ปีพ.ศ. 2545
ครูผู้สอนวิชาศิลปะดีเด่นของสมคมครูอำเภอท่ามะกา ปีพ.ศ. 2547
ครูผู้สอนวิชาศิลปะดีเด่นระดับประเทศรางวัล TEACHER AWARD ปีพ.ศ. 2544
กิจกรรมวิธีการขั้นตอนที่สำคัญ ทราย เป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่มีอยู่ใต้พื้นดิน บนพื้นดิน หาดทราย แม่น้ำ ลำคลองทั่วไป โดยทั่วไปแล้วมนุษย์รู้จักนำทรายมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง ทำแก้ว ทำขวด ทำกระจก เป็นส่วนใหญ่ น้อยคนนักที่จะนำทรายมาสร้างสรรค์ในงานศิลปะทรายสี ศิลปะทรายสีหมายถึง การสร้างภาพโดยการโรยทรายสีลงบนพื้นระนาบให้เป็นภาพ เป็นการแสดงออกวิธีหนึ่งตามความสนใจ และความถนัด โดยวิธีธรรมชาติตามสภาวะแวดล้อมที่อำนวยให้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุผล และความสามารถเฉพาะบุคคลและโอกาส ในการเลือกใช้วัสดุจากทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น เป็นวิธีการที่ข้าพเจ้านำมาใช้เป็นคนแรกของวัดกาญจนบุรี ในการแสดงออกทางศิลปะ นอกเหนือจากการขูด การขีด การลาก การระบาย การแต้ม การเป่า การหยด การเท การสลัด การพับ ฯลฯ การโรยทรายสี สามารถเลือกแสดงออกตามความเหมาะสมกับวัตถุ โดยคำนึงถึงความสะดวกและความประหยัด เช่นการโรยทรายลงบนพื้นกระดาษ แผ่นไม้ แผ่นปูน แจกันดินเผาที่ยังไม่ได้เคลือบ ปูนปลาสเตอร์ แก้วเป็นต้น ศิลปะทรายสีนับว่าเป็นความงามที่แปลกใหม่ ประณีต ละเอียดอ่อน มีคุณค่ายิ่งสำหรับผู้ที่พบเห็น มีความสนใจ แม้จะสร้างศิลปะทรายสีเพราะเพียงความรักเท่านั้น ต้องมีความซาบซึ้งมองเห็นคุณค่าของศิลปะทรายสีได้ด้วย เราสามารถนำทรายสีไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ศิลปะทรายสีจะให้คุณค่าทางอารมณ์และจิตใจ เกิดความประทับใจต่อผู้พบเห็น และสามารถที่จะบอกคุณค่า ประโยชน์ของทรายได้ การสร้างศิลปะทรายสีนี้สามารถที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดสมาธิ มีความอดทน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ดี ในการทำงานครั้งต่อไป และมีความภูมิใจในผลงานของตัวเอง
การย้อมทรายให้เป็นสีต่าง ๆ ต้องเลือกทรายให้มีเม็ดทรายที่มีสีขาว เมื่อได้ทรายมาแล้วให้นำกระชอนมาร่อนทรายเพื่อที่จะกรองสิ่งสกปรกออก เช่น เศษไม้ ใบไม้ กรวดเล็ก ๆ ออก และพยายามร่อนทรายให้ได้ทรายที่มีความละเอียดมากที่สุด นำสีน้ำพลาสติก สีน้ำโปสเตอร์สะท้อนแสง มาผสมกับน้ำสะอาดในอัตราส่วน 2 : 1 คือสีสองส่วนน้ำหนึ่งส่วน คนสีกับน้ำให้เข้ากันในภาชนะผสมสี ถ้าใส่น้ำมากสีจะอ่อนทำให้สีไม่จับกับทราย ถ้าผสมให้สีเข้มข้นจะทำให้สีจับกับทรายได้ดี
นำทรายที่ร่อนได้ละเอียดแล้ว เทลงในภาชนะที่ผสมสีแล้ว พร้อมกับคนให้ทรายกับสีเข้ากันให้ทั่วๆ เทสีที่ผสมกับทรายแล้วลงบนภาชนะรองรับ เกลี่ยทรายที่ย้อมสีให้แผ่ออก โดยใช้วัสดุ เช่นไม้ พลาสติกแบนๆ หรือวัสดุชนิดอื่นซึ่งมีขนาดพอเหมาะ แล้วนำออกตากแดดให้แห้ง เมื่อทรายที่ย้อมสีแห้งแล้ว ทรายที่ย้อมสีได้จะจับตัวกันเป็นก้อน นำภาชนะที่สามารถคลึงแล้วทำให้ทรายแยกออกจากกันได้ ในที่จะใช้วัสดุคือขวดแก้ว นำขวดแก้ววางนอนแล้วค่อยๆ กลิ้งขวดไปมาเพื่อทำให้ทรายที่จับตัวเป็นก้อนแยกออกจากกัน เมื่อคลึงทรายให้แยกออกจากกันแล้ว ทรายที่ได้จะยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันที่ จะต้องนำทรายมากรองอีกครั้งด้วยกระชอน ตอนนี้ทรายที่ได้จะมีความละเอียดสามารถนำมาใช้ได้ ทรายที่ย้อมสี ควรที่จะย้อมให้มีหลายๆสี เพื่อที่จะได้สร้างสรรค์งานให้มีความสวยงาม ที่สำคัญต้องมีการย้อมสีดำด้วย เพื่อไว้เดินเส้นตามภาพที่ร่า การโรยทรายสี ให้นำกระดาษวาดเขียน 100 ปอนด์ ขนาด 14 5 20 นิ้ว ที่เตรียมไว้ ร่างภาพด้วยดินสอ โดยยังไม่ต้องใส่รายละเอียดมากนัก ร่างด้วยดินสอ HB เบาๆ ด้วยรูปที่ชอบ นำกาวลาเท็กซ์เทใส่แก้วสำหรับระบาย นำน้ำมาผสมในอัตราส่วน โดยใช้กาว 4 ส่วน น้ำ 1 ส่วน หรือโดยใช้วิธีสังเกตไม่ให้กาวข้นเกินไปหรือใสเกินไป คนกาวกับน้ำให้เป็นเนื้อเดียวกัน ใช้พู่กันเบอร์ 4 จุ่มกาว แล้วลากตามเส้นดินสอที่วางไว้ เพื่อเป็นการเดินเส้นก่อน ( ตัดเส้น ) ถ้าทำภายหลังจะได้ภาพไม่สวย ใช้มือหยิบทรายสีดำ วางข้างๆกาวที่ระบายตามเส้นแล้ว ใช้นิ้วมือเคาะที่กระดาษเบาๆ ให้เม็ดทรายเคลื่อนเข้าหากาวที่ระบายไว้ แล้วระบายกาวในส่วนที่จะโรยต่อไป ทำเช่นนี้จนเสร็จตามภาพที่ร่างไว้ ใช้พู่กันที่จะระบายกาวโดยเลือกเบอร์ที่มีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่ของภาพ แล้วระบายกาวทีละส่วน ใช้มือหยิบทรายสีที่ต้องการ โรยข้างๆกาวที่ระบายไว้แล้ว ใช้มือเคาะที่กระดาษเบาๆ ให้ทรายเคลื่อนเข้าหากาวที่ระบายไว้ แล้วระบายกาวในส่วนที่จะโรยต่อไป ทำเช่นนี้จนกว่าจะได้ภาพเสร็จตามต้องการ
ศิลปะอนุรักษ์วัฒนธรรมลายรดน้ำ
ความรู้ทั่วไปเรื่องลายรดน้ำ
“งานลายรดน้ำ” เป็นงานประณีตศิลป์ของไทย จัดอยู่ในงานช่างสิบหมู่ แขนงช่างรัก มีวิวัฒนาการสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่ในสมัยใด โดยใช้กระบวนการในการเขียนและจะเสร็จสมบูรณ์ได้โดยการรดน้ำ “ลายรดน้ำ” เป็นจิตรกรรมไทยแบบประเพณีประเภทหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มเอกรงค์คือ มีสีทองสีเดียวทั้งส่วนที่เป็นภาพ ลวดลายหรือลวดลายประกอบภาพ ส่วนสีทองได้มาจากทองคำเปลวบริสุทธิ์ปรากฎให้เห็นเด่นชัดเป็นเงางามบนพื้นสีดำหรือพื้นสีแดงเข้ม เป็นงานประณีตศิลป์ที่มีระเบียบแบบแผนในการเขียนประดับตกแต่งส่วนประกอบของอาคารสถาปัตยกรรมไทยและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของงานเครื่องเขินส่วน “ช่างลายรดน้ำ” ตามคำนิยามในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกล่าวไว้ว่า เป็นช่างฝีมือประเภทหนึ่ง ผู้ทำงานศิลปะเกี่ยวกับการปิดทองลงบนลวดลายที่เขียนด้วย น้ำยาหรดาล สำหรับขั้นตอนการทำลายรดน้ำนั้น ก่อนอื่นต้องเตรียม ยางรัก เตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทารักเขียนลายรดน้ำ ใช้ได้ทั้งที่เป็น เนื้อไม้ เช่น บานประตู หน้าต่าง เนื้อโลหะ เช่น ฆ้อง ฝักดาบ เนื้อปูน เช่น ผนังโบสถ์ วิหารลวดลายปูนปั้น ใบไม้ ใยพืช เช่น ใบลาน สมุดข่อย และชิ้นส่วนจากสัตว์ เช่น หนังควาย อานม้า เป็นต้น การเตรียมน้ำยาหรดาล ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเขียนลายรดน้ำ ซึ่งไม่มีสูตรผสมที่เป็นมาตรฐานตายตัว ด้วยการชั่ง ตวง ตามสัดส่วน แต่เป็นการประมาณสัดส่วนตามประสบการณ์ การเตรียมแบบ การปรุ แบบ โดยต้องจัดวางรูปแบบให้สวยงาม ดูเด่น สะดุดตา เนื่องจากลายรดน้ำมีเพียงสีเดียวคือ สีทอง หลังจากนั้นจึงถึงขั้นตอนของการทำลายรดน้ำ ซึ่งนอจากจะต้องใช้ความชำนาญของช่างแล้ว คนทำยังต้องยึดกรรมวิธีแบบโบราณที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษหลายร้อยปี เริ่มจากการออแบบลายไทย ลงบนกระดาษไขแล้วใช้เข็มปรุตามรอย จากนั้นเอาลูกประคบที่ได้จากดินสอพองไปประคบแบบให้ทั่ว แล้วเตรียมตัดเส้นซึ่งในสมัยโบราณใช้หินหรดาล ( หินสีเหลืองซึ่งเป็นแร่ชนิดหนึ่ง ) ป่นให้ละเอียด ปัจจุบันมีการนำสีโปสเตอร์มาใช้แทน เนื่องจากหินหรดาลหายาก แต่ที่น่าสนใจยิ่งคือ การนำเอากาวกระถินมาเคี่ยวกับสีเพื่อให้เกิดความเหนียว เมื่อเริ่มหนืด ก็จะนำส้มป่อยมาผสม แล้วถมพื้นด้วยสีเหลือง ต่อจากนั้นเอายางรักมาเช็ดให้ทั่วตามพื้นที่ถมด้วยสีเหลือง ก่อนที่จะเช็ดรักทิ้งแล้วใช้ทองคำเปลวบริสุทธิ์มาปิดทับให้ทั่วแล้วล้างออกด้วยน้ำจนเหลือเพียงเฉพาะทองคำเหลืองอร่าม
วัสดุอุปกรณ์ในการทำลายรดน้ำ
1.กระดาษไข
2.เข็ม
3.ดินสอ
4.แป้งดินสอพอง
5.ผ้าดิบ 6.กาวกระถิน
7.หรดาล
8.ส้มป่อย
9.พู่กัน
10.สีเหลือง
11.วัสดุที่ทำ
12.ยางรัก
13.ทองคำบริสุทธิ์
ลวดลายบนกระดาษไขและการปรุไข
ให้นำกระดาษไขขนาดความต้องการ วาดรูปลงบนกระดาษไขตามต้องการ เสร็จแล้วให้นำเข็มที่เตรียมไว้ ทิ่มตามรอยเส้นภาพที่วาดไว้ ระวังอย่าให้ไขทะลุติดกันเกินไป เพราะจะทำให้ไขขาดจากกันได้ การทำแป้งประคบ การทำแป้งประคบ โดยการนำแป้งดินสอพองมาพอประมาณ บดให้ละเอียด นำไปคั่วบนเตาไฟอ่อนๆ เพื่อให้ความชื้นที่แป้งดินสอพองหมดไป จะเห็นได้ว่าแป้งจะจับตัวเป็นก้อน และนำมาบดให้ละเอียดอีกครั้ง พร้อมนำผ้าดิบที่เตรียมไว้ห่อเป็นก้อนกลมๆพอประมาณ มัดด้วยยางหรือเชือก
การทำกาวกระถิน
ลักษณะของกาวกระถิน กาวกระถินมีลักษณะเป็นก้อนสีออกเหลือง ละลายด้วยการนำกาวกระถินผสมกับสีเหลือง หรือหรดาล นำมาตั้งไฟอ่อนๆ เคี่ยวจนเหนียวหนืด แล้วผสมกับส้มป่อย
การคบแป้ง
เมื่อเตรียมวัดอุปกรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำวัสดุที่จะมาทำเช็ดด้วยยางรักปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง นำไขที่ปรุลวดลายเรียบร้อยแล้ว นำมาวางลงวัสดุที่ต้องการ นำแป้งที่เตรียมไว้มาตบลงบนกระดาษไขที่ปรุไว้แล้ว แล้วยกกระดาษไขออก จะเห็นแป้งที่ตบเป็นรอยจุดไขปลา
การคัดเส้น
เมื่อตบแป้งแล้ว ให้ดำเนินการต่อไปคือ การตัดเส้นโดยใช้พู่กันจุ่มกาวกระถินตัดเส้นตามรอยเส้นประที่เราตบแป้งไว้ ตัดเส้นจนกว่าจะเสร็จ
การถม
การถม คือ ให้นำสีเหลืองมาถมในส่วนที่ต้องการปิดทองให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้ให้หมาด นำทองคำเปลวบริสุทธ์มาปิดทับให้ทั่วใช้พูกันปัดทองที่ปิดทับให้ติดทั่วจนกว่าจะเสร็จและปล่อยทิ้งให้แห้ง
ขั้นตอนสุดท้ายของการทำลายรดน้ำ
นำลวดลายที่ปิดทับด้วยทองที่เสร็จแล้วมาล้างด้วยน้ำ เพื่อล้างกาวกระถินที่ตัดเสันไว้ออกจะเหลือเพียงแต่เฉพาะทองคำที่เหลืองอร่าม ศิลปะการทำลวดลายบนกระจก การทำลวดลายบนกระจก เป็นการสร้างร่องรอยบนกระจกให้เกิดความลึกกว่าพื้นผิวเดิม ในขอบเขตที่ผู้สร้างงานได้กำหนดเอาไว้ โดยพื้นผิวงานที่สร้างขึ้นจะมีลักษณะเป็นร่องลึก แตกต่างกับพื้นผิวเดิมอย่างเห็นได้ชัด จึงจัดได้ว่าเป็นงานศิลปะประเภทหนึ่ง ซึ่งมีหลักการสร้างงานศิลปะหลายอย่างมารวมกัน ได้แก่ การวาดภาพ การแกะสลักและเทคนิคสัมพันธ์
วัสดุอุปกรณ์ กระจก แผ่นสติกเกอร์ แบบลวดลาย กรดกัดกระจก มีดคัดเตอร์ ดินน้ำมัน พู่กัน สีแก้ว
ขั้นตอนในการทำ
1. นำแผ่นกระจกใสมาล้างทำความสะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง
2. นำแผ่นสติกเกอร์พีวีซีมาติดลงบนกระจก
3. นำลวดลายที่เตรียมมาไว้ ติดทับลงบนสติกเกอร์
4. ใช้ใบมีดคัดเตอร์ตัดลวดลายบนสติกเกอร์ตามแบบแล้วจึงลอกสติกเกอร์ส่วนที่ต้องการให้กรดกัดออก
5. นำดินน้ำมันมาล้อมรอบแล้วเทกรดเจือจาง แล้วทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง
6. เมื่อได้ความลึกตามต้องการ เทน้ำกรดทิ้ง ลอกสติกเกอร์ออก แล้วล้างด้วยน้ำให้สะอาด
7. ลงสีตามต้องการ
ข้อจำกัดในการนำไปใช้ ใช้ในการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ประชาชนทั่วไป
คำสำคัญ Key word การนำนวัตกรรมมาใช้ในการเรียนการสอนนี้เป็นประโยชน์แก่นักเรียนและผู้สนใจทั่วไปสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองอีกอย่างและยังสามารถพัฒนาสู่อาชีพที่อิสระได้
วันที่นำส่งข้อมูล 29 กุมภาพันธ์ 2551
ผู้นำส่งข้อมูล นายวสันต์ จารุพงษ์
หน่วยงาน โรงเรียนวัดสำนักคร้อ
โทร. 03455669
E – Mail - vasan@schoolsnk.net